วันเสาร์ที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

สมเด็จฯเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต

ภาพ:--'pkpml.jpg
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ต้นราชสกุล บริพัตร ประสูติเมื่อวันพุธที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2424 ปีมะเส็ง จุลศักราช 1243 ทรงเป็นพระโอสรในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 และสมเด็จพระปิตุจฉาเจ้าสุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี 

สมเด็จฯเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต

        ทรงเป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 และสมเด็จพระนางเจ้าสุขุมาลศรี ทรงประสูติในพระราชวัง ทรงเป็นพระราชโอรสองค์ที่ 33 ทรงมี สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้าสุทธาทิพยรัตน์ สุขุมขัติกัลยาวดี กรมหลวงศรีรัตนโกสินทร์ เป็นพระเชษฐภคินีร่วมพระชนนีเพียงพระองค์เดียว

การศึกษา

        เมื่อทรงเจริฐพระชันษาได้ 8 พรรษา ทรงเข้ารับการศึกษาตามแบบอย่างของพระราชกุมารและพรราชกุมารีในสมัยนั้น โดยทรงศึกษาวิชาภาษาไทย ณ โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ และวิชาภาษาอังกฤษกับ นายโรเบิร์ด มอแรนด์ (ปริญญาเอ็ม.เอ.ออกฟอร์ด) ที่โรงเรียนพระราชกุมารในพระบรมมหาราชวังร่วมกับบรรดาพระราชกุมาร พระราชกุมารี และเจ้านายพระองค์อื่น ๆ
        จนเมื่อมีพระชนม์ได้ 13 พรรษา จึงได้มีการพระราชพิธีโสกันต์ ในพระบรมมหาราชวัง ซึ่งถือว่าได้ผ่านพ้นวัยของพระราชกุมารแล้ว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าก็โปรดเกล้าฯ ให้พระองค์เสด็จไปทรงศึกษาต่อในยุโรป ในตอนแรกได้ทรงเข้าร่วมสถานที่ประทับ และทรงรับการศึกษาร่วมกับ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ ที่ตำบลแอสคอท มณฑลเซอร์รี่ย์ ประเทศอังกฤษ ในสำนักของนายแบร์ซิล ทอมสัน และต่อมาในสำนักของพันตรี ซี วี ฮูย์ม ที่ตำบลแคมเบอร์ลี มณฑลเซอร์รีย์ ประเทศอังกฤษ ตามลำดับ ทรงศึกษาวิชาเบื้องต้นที่จะต้องทรงศึกษาพร้อมกับธรรมเนียมและกีฬาของชาว ยุโรปนานถึง 2 ปี รวมทั้งพระองค์ได้ทดลองศึกษาภาษาเยอรมันดู ปรากฏว่าทรงภาษาได้ดีแม้ในระยะเวลาอันสั้น ดังนั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ทรงศึกษาต่อในวิชาการทหารที่ประเทศเยอรมนี
        โดยที่พระองค์เป็นพระราชโอรสของพระมหากษัตริย์ การจะเข้าศึกษาในโรงเรียนนายร้อยเยอรมัน ซึ่งถือได้ว่ามีการเรียนที่เข้มงวดและฝึกหัดภาคสนามหนักมากที่สุดของยุโรป เช่นนี้ จึงทำให้ต้องได้รับพระบรมราชานุญาตจากสมเด็จพระจักรพรรดิไกเซอร์ วิลเฮล์มที่ 2 (Emperor Kaiser Wilhelm 2) ก่อน และต้องได้รับหนังสือยินยอมจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวอีก ด้วย หลังจากที่ได้รับคำรับรองดังที่กล่าวแล้ว พระองค์จึงทรงย้ายจากประเทศอังกฤษ ไปเข้าศึกษาที่โรงเรียนนายร้อยชั้นประถมเยอรมัน ที่เมืองปอร์ตสดัม (The Cadet School, Potsdam) เมื่อโรงเรียนจัดให้สอบและปิดภาคแล้ว บรรดาครู อาจารย์ และผู้บังคับการโรงเรียนจึงเห็นพ้องกันว่าทรงเรียนได้รวดเร็ว มีความจำเป็นเลิศเกินกว่านักเรียนนายร้อยชาวเยอรมันมาก จึงได้เลื่อนชั้นขึ้นไปเรียนชั้นอุนเตอร์ เซกุนเด้ (Unter Sekunde) โรงเรียนนายร้อยมัธยมคาเดต (Chief Cadet School) ที่เมืองโกรส ลิสเตอร์เฟลเด้ (Gross Lichterfelde) กรุงเบอร์ลินแทน
        ด้วยความวิริยะอุตสาหะอย่างแรงกล้า ทำให้พระองค์เข้าร่วมในกิจกรรมตามหลักสูตรและเรียนทันพระสหายที่เรียนมาตาม ลำดับชั้นได้อย่างไม่บกพร่อง โดยสอบไล่ได้เป็น ปอตเอเปแฟนริช นักเรียนว่าที่นายร้อย และเข้าศึกษาในชั้นเซเลคต้า (Selekta) และสูงขึ้นไปเรื่อย ๆ ในที่สุดก็ทรงจบการศึกษาสอบเป็นนายทหารด้วยคะแนนดีมาก ทรงได้พระราชทานยศนายร้อยตรี ในปี พ.ศ. 2444 ในโอกาสนี้ กองทัพบกไทยได้ขอพระราชทานยศร้อยตรี กรมทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ ถวายแด่พระองค์ด้วย
        หลังจากจบการศึกษาแล้ว ทรงเข้ารับราชการในกองทัพบกเยอรมนี และเพื่อให้พระองค์มีโอกาสศึกษาประเพณีต่าง ๆ ในราชสำนักปรัสเซียอย่างใกล้ชิด สมเด็จพระจักรพรรดิไกเซอร์ ฯ จึงทรงมีคำสั่งเมื่อวันที่ 22 มีนาคม ร.ศ. 118 ให้บรรจุพระองค์เข้าประจำกองร้อยที่ 11 กรมทหารรักษาพระองค์ที่ 4 ในสมเด็จพระนางเจ้าเอากุสต้า พระบรมราชชนนี ระหว่างที่ทรงรับราชการอยู่นี้ ทรงเห็นว่าการศึกษาที่ผ่านมายังไม่พอกับที่จะทรง นำมาใช้ในประเทศ จึงทรงสมัครเข้าเรียนในวิทยาลัยการสงคราม (Academic of War)
        ในช่วงที่พระองค์ทรงศึกษาอยู่ที่วิทยาลัยการสงครามนั้น พระองค์ทรงได้รับการเลื่อนยศเป็นนายร้อยโท เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2444 และจบหลักสูตรในเดือนสิงหาคม ด้วยระดับคะแนนยอดเยี่ยม ทรงได้รับพระราชทานประกาศนียบัตรจากวิทยาลัยการสงคราม ครีกล์ ซูเล่ (Kriegs Schule) แห่งเมืองคัสเซล (Kassel) และยังได้รับประกาศนียบัตรชมเชยเป็นพิเศษจากสมเด็จพระจักรพรรดิไกเซอร์ ฯ เป็นพิเศษอีกด้วย
        เดือนตุลาคม พ.ศ. 2444 สมเด็จ ฯ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ ฯ ทรงลาพักและเสด็จกลับประเทศไทย จนถึงเดือนมีนาคม พ.ศ. 2445 พระองค์จึงเสด็จกลับมาทรงศึกษาต่อประเทศเยอรมนีอีกครั้งหนึ่ง
        ในการกลับมาทรงศึกษาในครั้งที่ 2 นี้ ก็เพื่อเร่งรัดให้ทรงเรียนวิชาการที่สำคัญ ๆ ให้เสร็จภายใน 1 ปี ทรงเลือกเข้าศึกษาในหลักสูตรต่าง ๆ ดังนี้
  1. โรงเรียนแม่นปืน เมืองสะบันเดา หลักสูตรสำหรับนายทหารชั้นนายพัน
  2. โรงเรียนปืนใหญ่ เมืองยีเตอร์บอร์ด หลักสูตรสำหรับนายทหารชั้นนายพล
  3. วิทยาลัยการสงคราม หลักสูตรการยุทธศาสตร์และยุทธวิธี ตลอดจนร่วมสมทบการฝึกหัดนำทัพในสนามรบ
  4. เข้าร่วมฟังการบรรยายที่มหาวิทยาลัยเบอร์ลิน 1 ภาคการศึกษา เกี่ยวกับเศรษฐกิจ การปกครอง ธรรมเนียมระหว่างประเทศ และวิธีปกครองอาณานิคม
        ในระหว่างนั้นยังทรงเข้ารับราชการในกรมทหารรักษาพระองค์ที่ 4 และในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2446 ทรงได้รับพระราชทานเลื่อนยศเป็นนายร้อยเอก เมื่อรวมเวลาที่ทรงศึกษาอยู่ในต่างประเทศแล้วนับว่านานมากถึง 9 ปี ซึ่งในขณะนั้นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชประสงค์ ที่จะปรับปรุงกองทัพบก ซึ่งเป็นกำลังหลักของประเทศเป็นอย่างยิ่ง ด้วยเหตุนี้ สมเด็จ ฯ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ ฯ จึงทรงลาออกจากตำแหน่งนายทหารกองทัพบกเยอรมนี และเข้าเฝ้าสมเด็จพระจักรพรรดิ ไกเซอร์ ฯ ทูลลากลับประเทศไทย ทรงสิ้นพระชนม์เมื่อ วันที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2487 ขณะทรงประทับอยู่ที่ประเทศชวา

การทรงงาน

        พระองค์ทรงเข้ารับราชการในตำแหน่งเสนาธิการทหารบกได้ไม่ทันครบปี พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดเกล้า ฯ ให้ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการกรมทหารเรือ ในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2447 เนื่องจากสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภานุพันธุวงษ์วรเดช กราบบังคมลาออกจากตำแหน่งผู้บัญชาการกรมทหารเรือ เนื่องจากทรงพระประชวร
        ด้วยพระราชดำริของพระราชบิดาที่ว่า “... เห็นว่าส่วนการปกครองกรมยังหาเป็นระเบียบเรียบร้อยไม่ จะให้แต่ผู้รู้วิชาการเดินเรือจัดการปกครองทั่วไป ก็จะยังไม่เป็นการเรียบร้อยตลอดไปได้ จึงเห็นควรว่าจะให้มีผู้บัญชาการจัดการปกครองกรมให้ลงระเบียบเรียบร้อย ราชการทหารเรือจึงจะดำเนินไปได้ เห็นว่าชายบริพัตรมีสติปัญญาแลความเพียรมั่นคงอยู่จึงตั้งให้เป็นผู้ บัญชาการกรมทหารเรือ …..” พระองค์ทรงอยู่ในตำแหน่งเป็นเวลาเกือบ 7 ปี ซึ่งพระองค์ได้ทรงบุกเบิกและวางรากฐานแห่งความเจริญด้านต่าง ๆ ให้ ทร. ในปัจจุบัน ดังนี้
        พระราชกรณียกิจในขณะทรงดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการกรมทหารเรือ (พ.ศ. 2447 - พ.ศ. 2453)
  1. การจัดระเบียบราชการใน ทร. ให้รัดกุม โดยจัดแบ่งส่วนราชการเป็น กรมบัญชาการกลาง มีผู้บัญชาการกรมทหารเรือเป็นประธาน มีหน้าที่รับผิดชอบงานราชการซึ่งเกี่ยวข้องกับกรมทหารเรือทั่วไป
  2. การสมัครสมานสามัคคีระหว่างทหารเรือรุ่นเก่าและทหารเรือรุ่นใหม่ เพื่อประสานรอยร้าวที่ได้รับการศึกษาแบบเก่า และแบบสมัยใหม่
  3. การจัดทำข้อบังคับสำหรับทหารเรือ ทรงจัดทำข้อบังคับทหารเรือ (ข.ท.ร.) ข้อบังคับหน้าที่ราชการเรือ (ข.น.ร.) และข้อบังคับหน้าที่ราชการกลจักร (ข.น.จ.) ขึ้นใช้เป็นหลักฐานในการปฏิบัติราชการสืบมาจนถึงทุกวันนี้
  4. จัดระเบียบเกี่ยวกับการเงิน โดยมีการแต่งตั้งกรรมการตรวจเงินและควบคุมเงิน รวมทั้งให้มีการกำหนดอัตราเงินเดือนข้าราชการทหารเรือ ทั้งในและต่างประเทศขึ้นไว้เป็นหลักฐานด้วย
  5. เปลี่ยนยศข้าราชการกรมทหารเรือ แผนกผู้ช่วยรบ เนื่องจากประกาศลำดับยศข้าราชการกรมทหารเรือแผนกผู้ช่วยรบ เมื่อ พ.ศ. 2447 มีความสับสน โดยใช้ตำแหน่งเป็นยศ ทำให้เกิดความเข้าใจผิด จึงได้เปลี่ยนใช้แบบเดียวกับราชการแผนกรบ
  6. กำหนดระยะเวลาและวิธีรับคนเข้าราชการในกรมทหารเรือ เนื่องจากมีผู้หนีราชการเป็นจำนวนมาก เมื่อถูกเกณฑ์เข้ารับราชการ
  7. การจัดตั้งโรงเรียนนายเรือ พระองค์ทรงริเริ่มร่วมกับเสด็จในกรมหลวงชุมพร รองผู้บัญชาการทหารเรือและพระยาวิสุทธิสุริยศักดิ์ (ม.ร.ว. เปีย มาลากุล) เสนาบดีกระทรวงธรรมการ
  8. สร้างอู่ต่อเรือ อู่ต่อเรือนี้ต่อมาได้วิวัฒนาการเป็นกรมอู่ทหารเรือในปัจจุบัน
  9. วางแบบแผนการยิงสลุต โดยร่างข้อบังคับว่าด้วยการยิงสลุต พ.ศ. 2449
  10. กำหนดเครื่องแต่งตัวทหารเรือ ได้ร่างพระราชกำหนดเครื่องแต่งตัวทหารเรือ ร.ศ. 124 และได้ประกาศใช้ราวเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2450 ตามที่ พลเรือตรี กรมหมื่นชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ ทรงเสนอ
  11. จัดให้มีพระธรรมนูญศาลทหารเรือและกรมพระธรรมนูญทหารเรือ เพื่อดูแลงานด้านเกี่ยวกับกฎหมายและคำสั่งต่าง ๆ
  12. ปรับปรุงการสหโภชน์และจัดตั้งโรงเรียนสูทกรรม เพื่อให้ทหารรู้จักการปรุงอาหาร การจัดโต๊ะและมารยาทในการเสริฟทั้งอาหารไทยและฝรั่ง
  13. กองดุริยางค์ทหารเรือ ทรงโปรดการดนตรีไทยและดนตรีสากล ได้ทรงสนพระทัยกองแตรวงทหารเรือ ตั้งแต่แรกเริ่ม ทรงควบคุมการฝึกซ้อม ทรงพระนิพนธ์เพลงให้กองแตรวงฝึกจนมีความสามารถ ซึ่งต่อมาได้พัฒนามาเป็นกองดุริยางค์ทหารเรือในปัจจุบัน
  14. จัดทำโครงสร้างกำลังทหารเรือ ทรงจัดทำโครงสร้างกำลังพลทางเรือ ร่วม กับพลเรือตรี พระเจ้าลูกยาเธอ ฯ กรมหมื่นชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ รองผู้บัญชาการกรมทหารเรือและโครงการนี้ได้บรรลุผลสำเร็จ ในสมัยทรงดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงทหารเรือ
  15. สนับสนุนความก้าวหน้าและเพิ่มพูนรายได้ของผู้ใต้บังคับบัญชา เปิดโอกาสให้ทุกคนได้เรียนและสอบเพื่อแสดงความรู้ของตนเอง
        พระราชกรณียกิจในตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงทหารเรือ (11 ธันวาคม พ.ศ. 2453 - 18 มิถุนายน พ.ศ. 2463) พระองค์ทรงอาศัยหลักการเดิมที่ทรงวางไว้ในสมัยรัชกาลที่ 5 พระกรณียกิจที่สำคัญในตำแหน่งนี้พอประมาณได้พอสังเขป ดังนี้
  1. ทำการสำรวจและจัดทำแผนที่น่านน้ำสยามขึ้นใหม่ โดยทรงมอบให้กองแผนที่ทางทะเลเป็นผู้สำรวจ และต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น กองอุทกศาสตร์ ในปี พ.ศ. 2458 และเป็นกรมอุทกศาสตร์ ในปี พ.ศ. 2464
  2. ตั้งคลังแสงทหารเรือ ทรงตั้งคลังแสงทหารเรือขึ้นที่บางนา จ . สมุทรปราการ ต่อมาเรียกว่า กรมสรรพาวุธทหารเรือ
  3. ให้มีกฎข้อบังคับการปฏิบัติในเวลาสงครามไว้ใช้ในกระทรวงทหารเรือ ขณะที่กำลังเกิดสงครามในยุโรป (ก.ย. – ต.ค. 2457) ทรงให้กรรมการร่างกฎหมายของกระทรวงยุติธรรม ร่างกฎว่าด้วยการใช้ธรรมนิยมกฎหมายนานาประเทศในเวลาเกิดสงครามขึ้น
  4. ทรงเสริมสร้างแสนยานุภาพของกองทัพเรือ นอกจากการสั่งสร้างเรือรบจากต่างประเทศ เข้าประจำการในกองทัพเรือเป็นจำนวนมากแล้ว ยังได้ทรงร่วมกับเสด็จในกรมหลวงชุมพร ดำเนินการฝึก – ศึกษาของทหารเรือไทยทุกระดับให้มีสมรรถภาพ สามารถปฏิบัติหน้าที่ราชการได้ทันความเจริญก้าวหน้าวิทยาการทหารเรือและ อาวุธยุทโธปกรณ์สมัยใหม่ รวมทั้งการส่งนายทหารเรือไปศึกษาต่อในต่างประเทศ
  5. พระกรณียกิจในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 1 เมื่อประเทศไทยประกาศสงครามร่วมด้วยนั้น ทรงบัญชาการให้เจ้าหน้าที่ทหารเรือ (กรมชุมพลทหารเรือ) ทำการยึดเรือ และจับกุมเชลยศึกเยอรมนีจนเป็นที่เรียบร้อย
  6. ปรับปรุงการแพทย์ทหารเรือให้เจริญ ได้สร้างตึก 6 หลัง ที่ปากคลองมอญ ด้านเหนือตรงข้ามท่าราชวรดิฐ (ที่ตั้งโรงพยาบาลทหารเรือกรุงเทพ ในปัจจุบัน) มีการนำยารักษาโรคชนิดใหม่ ๆ เข้ามาใช้
  7. สนับสนุนการก่อตั้งราชนาวิกสภา ทรงเห็นชอบให้เริ่มตั้งราชนาวิกสภา แต่งตั้งวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2459 และเป็นสถานที่พบปะสนทนา โดยมี พลเรือตรี พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ เป็นผู้อำนวยการ
  8. การจัดตั้งบริษัทพาณิชย์นาวีสยาม ทรงมีดำริให้นำเรือเยอรมันที่กองทัพเรือทำการยึดในระหว่างสงครามโลกมาใช้ให้ เป็นประโยชน์ในการรับ - ส่งสินค้า ในรูปของบริษัท ในพระบรมราชูปถัมภ์ เรียกชื่อว่า บริษัทพาณิชย์นาวีสยามซึ่งเป็นต้นกำเนิดของบริษัทเดินเรือไทย ในเวลาต่อมา
  9. กำหนดรูปแบบริ้วกระบวนเรือพระราชพิธีปรับปรุงเห่เรือ และสร้างเรือพระราชพิธีขึ้นใหม่ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงได้ขอพระราชทานวางริ้วกระบวนเรือพระราชพิธีซึ่งทรงปรับปรุงใหม่เป็น 5 กระบวน ซึ่งยึดถือปฏิบัติมาถึงปัจจุบัน

พระโอรส-ธิดา

        เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ ทรงประทับที่วังบางขุนพรหม ซึ่งเป็นวังที่มีความใหญ่โตโอ่อ่าที่สุด กอรปกับทรงมีตำแหน่งหน้าที่สำคัญต่าง ๆ มากมาย จึงได้รับการกล่าวขานอีกฉายาหนึ่งจากคนทั่วไปว่า " จอมพลบางขุนพรหม " หรือ " เจ้าฟ้าวังบางขุนพรหม " ทรงเป็นต้นราชสกุลบริพัตร [1] ทรงเษกสมรสกับ หม่อมเจ้าประสงค์สม บริพัตร (ไชยันต์) (พระธิดาในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นมหิศรราชหฤทัย) มีพระโอรสพระธิดา 8 พระองค์ คือ
- พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุมภฏพงษ์บริพัตร กรมหมื่นนครสวรรค์ศักดิพินิต (5 ธันวาคม 2447 – 15 กันยายน 2502) เษกสมรสกับ หม่อมราชวงศ์พันธุ์ทิพย์ บริพัตร (เทวกุล) พระธิดาใน พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าไตรทศประพันธ์กรมหมื่นเทววงศ์วโรทัย
- หม่อมเจ้ามารศีสุขุมพันธ์ บริพัตร
- พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าหญิงศิริรัตนบุษบง (4 มกราคม 2449 – 6 กรกฎาคม 2533) เษกสมรสกับ หม่อมเจ้าอาชวดิศ ดิศกุล
- นายฤทธิ์ดำรง ดิศกุล สมรสกับ นางแก้วตา (หังสสูต) ดิศกุล
- เด็กชายอาชวฤทธิ์ ดิศกุล
- เด็กชายอวิรุทธิ์ ดิศกุล
- พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าหญิงสุทธวงษ์วิจิตร (16 มีนาคม – 20 กุมภาพันธ์ 2546)
- พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าหญิงพิสิฐสบสมัย (21 กันยายน – 23 กุมภาพันธ์ 2517) เษกสมรสกับ หม่อมเจ้าโกลิต กิติยากร
- หม่อมราชวงศ์หญิงพิลาศลักษณ์ (กิติยากร) บุณยะปานะ สมรสกับ นายบัณฑิต บุณยะปานะ
- นายพิทูร บุณยะปานะ สมรสกับ นางปองสุข (บุณยะประสิทธิ์) บุณยะปานะ
- นางศิถี (บุณยะปานะ) ศรีวิกรม์ สมรสกับ นายชาญ ศรีวิกรม์
- นางสิรี (บุณยะปานะ) อุดมฤทธิรุจ สมรสกับ นายกำพล อุดมฤทธิรุจ
- พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าหญิงจุไรรัตนศิริมาน (24 ธันวาคม 2452 – 2544) เษกสมรสกับ พลตรี หม่อม เจ้าฉัตรมงคล โสณกุล พระโอรสในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสณบัณฑิต กรมขุนพิทยลาภพฤฒิธาดา
- หม่อมราชวงศ์อายุมงคล โสณกุล สมรสกับ นางอมรา เหรียญสุวรรณ (หย่า)
- พันโท หม่อมราชวงศ์ถวัลย์มงคล โสณกุล สมรสกับ คุณหญิงสนทนา (หงสกุล) โสณกุล ณ อยุธยา
- หม่อมหลวงธีรเชษฐ โสณกุล
- หม่อมหลวงรัตนมงคล โสณกุล
- หม่อมราชวงศ์หญิงสุมาลยมงคล (โสณกุล) โชติกเสถียร สมรสกับ นายจุลเสถียร โชติกเสถียร
- นายจิรมงคล โชติกเสถียร
- นางศิริมงคล (โชติกเสถียร) จีนะวิจารณะ สมรสกับ นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ
- นายศุภมงคล โชติกเสถียร
- หม่อมราชวงศ์จัตุมงคล โสณกุล สมรสกับ นางรัชนี คชเสนี (หย่า)
- หม่อมหลวงมิ่งมงคล โสณกุล สมรสกับ คุณหญิงบูลย์วิภา (ทองไข่มุกข์) โสณกุล ณ อยุธยา
- หม่อมหลวงอรมงคล โสณกุล
- หม่อมหลวงอภิมงคล โสณกุล
- พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าหญิงจันทรกานตมณี (24 กันยายน 2455 – 30 ธันวาคม 2520) เษกสมรสกับ หม่อมเจ้าอรชุนชิษณุ สวัสดิวัตน์
- หม่อมราชวงศ์เดือนเด่น (สวัสดิวัตน์) กิติยากร สมรสกับ หม่อมราชวงศ์สฤษดิคุณ กิติยากร - หม่อมหลวงชาครีย์ กิติยากร
- หม่อมหลวงทยา กิติยากร
- หม่อมหลวงรมย์ กิติยากร
- หม่อมราชวงศ์ชิษณุสรร สวัสดิวัตน์ สมรสกับ หม่อมราชวงศ์พร้อมฉัตร (วุฒิชัย) สวัสดิวัตน์
- หม่อมหลวงศศิภา สวัสดิวัตน์
- หม่อมหลวงจันทราภา สวัสดิวัตน์
- พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าหญิง(สิ้นพระชนม์ตั้งแต่ยังไม่มีพระนาม)
- พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าชายปรียชาติสุขุมพันธุ์ (สิ้นพระชนม์ตอนพระชันษาได้ 2 ขวบ) (4 มิถุนายน 2463 - 29 พฤษภาคม 2465)
        สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ ทรงเษกสมรสกับ หม่อมสมพันธ์ บริพัตร ณ อยุธยา (ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา) มีพระโอรสพระธิดา 2 พระองค์ คือ - พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าหญิงอินทุรัตนา (2 กุมภาพันธ์ 2465 - ) เษกสมรสกับ นายสมหวัง สารสาส (หย่า)
- นายธรณินทร์ สารสาส สมรสกับ นางสุรีรัตน์ สีดาวรพงษ์ (หย่า)
- นางสินนภา (สารสาส) ตาราไต สมรสกับ นายอนันต์ ตาราไต (หย่า)
- นายพญาณินทร์ สารสาส
- พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสุขุมาภินันท์ (15 พฤศจิกายน 2466 - 2546) เษกสมรสกับหม่อมดุษฎี (ณ ถลาง)บริพัตร ณ อยุธยา
- หม่อมราชวงศ์สุขุมพันธุ์ บริพัตร อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สมรสกับ นางนุชวดี (บำรุงตระกูล) บริพัตร ณ อยุธยา (หย่า)ปัจจุบันสมรสกับ นางสาวิตรี (ภมรบุตร) บริพัตร ณ อยุธยา
- หม่อมหลวงพินิตพันธุ์ บริพัตร (จากการสมรส กับ นางนุชวดี บำรุงตระกูล)
- หม่อมหลวงวราภินันท์ บริพัตร
- พันตรี หม่อมราชวงศ์วโรรส บริพัตร สมรสกับ นางพัฒนาพร (นิยมศิริ) บริพัตร ณ อยุธยา
- หม่อมหลวงวรพินิต บริพัตร

เครื่องราชอิสริยาภรณ์

ปฐมจุลจอมเกล้า เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2434
ภารดรมหาจักรีบรมราชวงศ์ เมื่อวันที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2434
มหาสุราภรณ์มงกุฎสยาม ชั้นที่ 1 เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2436
นพรัตนราชวราภรณ์ เมื่อวันที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2437
มหาวราภรณ์ ช้างเผือก ชั้นที่ 1 เมื่อวันที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2444
เหรียญดุษฎีมาลา เข็มศิลปวิทยา เมื่อวันที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2446
เหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 4 ม.ป.ร.2 เมื่อปี พ.ศ. 2446
เหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 5 จ.ป.ร.1 เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2451
เหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 6 ว.ป.ร.1
อัลเบร็คต์ ประเทศแซ็กซันนี เมื่อปี พ.ศ. 2440
เซ็นโอลัฟ ประเทศนอรเวย์ ชั้น 1 เมื่อปี พ.ศ. 2440
เฮาส์ออร์เดน แดร์ทรอยเอ ประเทศบาเดน ชั้น 1 เมื่อปี พ.ศ. 2446
อินทรีย์แดง ประเทศปรัสเซีย ชั้น 1 เอก เมื่อปี พ.ศ. 2448
เซนต์ มอรส ประเทศอิตาลี ชั้น 1 เมื่อปี พ.ศ. 2448
ดันแนบร็อค ประเทศเดนมาร์ก ชั้น 1 เมื่อปี พ.ศ. 2450
เลย็อง คอร์เนอร์ ประเทศฝรั่งเศส ชั้น 1 เมื่อปี พ.ศ. 2450
ปอโลว์เนีย ประเทศญี่ปุ่น ชั้น 1 เมื่อปี พ.ศ. 2451
ไฮน์ริค แดร์ เลอเว ประเทศปรันสวิก ชั้น 1 เมื่อปี พ.ศ. 2452
เลโอโปลด์ ประเทศออสเตรียฮังการี ชั้น 1 เมื่อปี พ.ศ. 2454
มหาปรมาภรณ์ ช้างเผือก ชั้นสูงสุด เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2456
เหรียญจักรมาลา เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2458
รามาธิบดีชั้นที่ 1 เสนางคบดี เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2461
มหาวชิระมงกุฎ เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2463
เหรียญบรมราชาภิเศกทอง รัชกาลที่ 7 เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2468
เหรียญรัตนาภรณชั้นที่ 1 รัชกาลที่ 7 ป.ป.ร. เมื่อวันที่ 1 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2469

พระนิพนธ์

เพลงฝรั่ง

เพลงวอลทซ์ปลื้มจิตต์
เพลงวอลทซ์ประชุมพล
เพลงสุดเสนาะ
เพลงมณฑาทอง
เพลงวอลทซ์เมฆลา
เพลงมหาฤกษ์
เพลงสรรเสริญเสือป่า
เพลงวอลทซ์โนรี
เพลงสาครลั่น
เพลงโศรก
เพลงนางครวญ 3 ชั้น

เพลงไทยแท้

เพลงแขกมอญบางขุนพรหม
เพลงสุดสงวน 2 ชั้น
เพลงเขมรพวง 3 ชั้น
เพลงเขมรชมจันทร์
เพลงสารถี 3 ชั้น
เพลงสบัดสบิ้ง
เพลงทยอยนอก
เพลงทยอยเขมร
เพลงทยอยในเถา
เพลงแขกเห่
เพลงถอนสมอ
เพลงแขกมัสซีรี
เพลงครอบจักรวาฬเถา
เพลงบุหลันชกมวย 3 ชั้น
เพลงเขมรใหญ่เถา
เพลงพม่าเถา
เพลงแขกสี่เกลอเถา
เพลงแขกสายเถา
เพลงบาทสกุณี
เพลงขับไม้
เพลงเขมรโพธิสัตว์เถา

เพลงไทยเดิม ซึ่งเป็นทางและทำนองสำหรับใช้บรรเลงพิณพาทย์โดยตรง

เพลงแขกสายเถา
เพลงอาถรรพ์เถา
เพลงแขกสาหร่าย 3 ชั้น
เพลงสมิงทองมอญเถา
เพลงอาเฮีย
เพลงสารถี 3 ชั้น

เพลงไทยเดิม ทรงพระนิพนธ์เมื่อเสด็จจากกรุงเทพฯ แล้วไปประทับอยู่ที่เมืองบันดุง ประเทศอินโดนีเซีย

เพลงต้นแขกไทร 2 ชั้น
เพลงครวญหาเถา
เพลงกำสรวญสุรางค์
เพลงอักษรสำอางค์และเพลงสุรางค์จำเรียง
เพลงจีนลั่นถัน
เพลงจีนเข้าห้อง
เพลงน้ำลอดใต้ทรายเถา
เพลงขยะแขยง 3 ชั้น
เพลงจีนเก็บบุปผาเถา
เพลงดอกไม้ร่วง
เพลงเทวาประสิทธิ์เถา
เพลงวิลันดาโอด
เพลงจิ้งจกทองเถา
เพลงตนาวเถา
เพลงพวงร้อยเถา
เพลงถอนสมอเถา
เพลงพระจันทรครึ่งซีกเถา

1 ความคิดเห็น: